![](https://stin.ac.th/wp-content/uploads/ข้อมูลสถาบัน/ประวัติ/ประวัตสถาบัน.jpg)
วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ได้วิวัฒนาการมาจากโรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาดสยามมาเป็นโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยสภากาชาดไทย จนถึงสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ในปัจจุบัน สถาบันการศึกษาแห่งนี้กำเนิดขึ้นโดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2457 นับเป็นสถาบันแห่งแรกที่เปิดสอนหลักสูตรวิชาการพยาบาล ในประเทศไทย เมื่อเริ่มเปิดดำเนินการโรงเรียนนี้ขึ้นอยู่กับแผนกศึกษา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (กองพยาบาลทหารบกกลาง กระทรวงกลาโหม) เป็นหลักสูตรที่มีระยะเวลาเรียน 1 ปี และมีการแลกเปลี่ยนนักเรียนกับโรงเรียนผดุงครรภ์โรงพยาบาลศิริราช ต่อมาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยกเลิกแผนกศึกษาจึงโอนโรงเรียนพยาบาลไปขึ้นอยู่กับแผนกรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล กองโรงเรียนพยาบาลเป็นกองหนึ่งในแผนกนี้ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองโรงเรียนพยาบาลเป็นพระองค์แรก คือ หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์
พ.ศ. 2467 ขยายหลักสูตรเป็น 3 ปี รับนักศึกษาที่มีความรู้อย่างต่ำมัธยมศึกษาปีที่ 3 และคณะมิชชันนารีอเมริกันได้จัดตั้งโรงเรียนนางพยาบาลแมคคอร์มิคที่เชียงใหม่ โดยใช้หลักสูตรและข้อสอบของโรงเรียนการพยาบาลสภากาชาดสยาม พ.ศ. 2507 ปรับปรุงหลักสูตรให้มีมาตรฐานสูงขึ้นเทียบเท่าระดับการศึกษาสากลเรียกหลักสูตรนี้ว่าประกาศนียบัตรขั้นสูงวิชาพยาบาลและอนามัย รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หรือเทียบเท่ากำหนดเวลาเรียน 3 ปีและมีหลักสูตรประกาศนียบัตรผดุงครรภ์อีก 6 เดือน ในปี พ.ศ. 2511 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล กำหนดเวลาเรียน 1 ปี รับผู้สำเร็จการศึกษาสายสามัญชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อีกหลักสูตรหนึ่งำ
พ.ศ. 2513 เปลี่ยนชื่อจากเดิมเป็น วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย และมีอาจารย์ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลฯ เป็นผู้บริหาร วิทยาลัยพยาบาลฯ มีการปรับปรุงหลักสูตรวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยให้มีมาตรฐานสูงขึ้น
ในระดับอนุปริญญาพยาบาลและอนามัย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีการับวิทยาลัยพยาบาลฯ เข้าสมทบเป็นสถาบันวิชาการศึกษาชั้นสูงในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2514 ต่อมาวิทยาลัยพยาบาลฯ ได้มีการพัฒนาหลักสูตรใหม่โดยได้ปรับเปลี่ยนเป็นหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต มีกำหนดเวลาเรียน 4 ปี ในปี พ.ศ. 2521 ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญาบัตรสาขาพยาบาลศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2532 สภากาชาดไทยได้มีประกาศสภากาชาดไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2532 ให้วิทยาลัยพยาบาลฯ มีฐานะเป็นสำนักหนึ่งของสภากาชาดไทยพร้อมทั้งได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรบริหารบุคคลและการบริหารวิชาการ ให้สอดคล้องกับภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา โดยมีผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลฯ เป็นผู้อำนวยการสำนัก วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้มีการพัฒนาวิธีการบริหารจัดการใหม่ทั้งด้านการจัดการเรียนการสอนการวิจัย การบริการวิชาการ กิจกรรมนักศึกษา ตลอดจนจัดให้มีสโมสรนักศึกษาขึ้นเพื่อส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยและส่งเสริมประสบการณ์ด้านต่างๆ ให้กับนักศึกษา
พ.ศ. 2536 ขยายบทบาทด้านการผลิตบุคลากรพยาบาล โดยเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ และสาขาวิชาการพยาบาลผู้ติดเชื้อไวรัสเอดส์และผู้ป่วยเอดส์ กำหนดเวลาศึกษาอบรม 4 เดือน และได้ขยายจำนวนการรับนักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จากปีละ 170 คน ตามแผนพัฒนาการศึกษาฯ ระยะที่ 7 (พ.ศ. 2534-2539) มาเป็นปีละ 200 คน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการศึกษาสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 นอกจากนี้ยังได้มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนและมีการอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่อาจารย์และเจ้าหน้าที่
![](https://stin.ac.th/wp-content/uploads/ข้อมูลสถาบัน/ประวัติ/อาคารเฉลิมพระเกียรติ.jpg)
พ.ศ. 2545 ขยายบทบาทด้านการบริการวิชาการทั้งในรูปแบบของการจัดประชุมวิชาการและการอบรมสำหรับพยาบาลวิชาชีพ ตลอดจนโครงการบริการวิชาการด้านวิชาชีพแก่สังคม ในกลุ่มวัยต่างๆ ที่มีปัญหาการปรับตัวต่อภาวะสุขภาพและผู้ด้อยโอกาส ในรูปแบบที่หลากหลาย ในปีต่อมาได้เปิดสอนหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางที่ได้รับการรับรองหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องทางการพยาบาลจากสภาการพยาบาลจำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่ สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ สาขา
การพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) อนุสาขาการพยาบาลเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และอนุสาขา
การพยาบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
พ.ศ. 2547 วาระที่วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้ดำเนินการมาครบรอบปีที่ 90 จึงได้ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์การศึกษาและการพยาบาลสภากาชาดไทยขึ้นในอาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา เพื่อเป็นสถานที่สำหรับศึกษาประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของวิชาชีพการพยาบาลในสังกัดของสภากาชาดไทยซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์การพยาบาลในประเทศไทยด้วย
พ.ศ. 2548 วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้จัดการศึกษาโดยใช้หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2547) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาปรับปรุงมาจากหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2539) เพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน หลักสูตรนี้ได้ผ่านการ
เห็นชอบจากสภาการพยาบาลเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์
2548
พ.ศ.2549 ขยายการเปิดสอนหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางอนุสาขาการพยาบาลผู้ป่วยบาดแผลออสโตมีและควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (นอกเวลาราชการ) เพื่อตอบสนองความต้องการของภากาชาดไทยและสังคมนอกจากนี้ยังมีหลักสูตรออกแบบพิเศษระยะสั้นให้กับนักศึกษาพยาบาล Aino University ประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. 2550 วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้ปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลังตามมติอนุมัติของคณะกรรมการเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย วันที่ 11 กรกฎาคม2550 เพื่อให้เอื้อต่อการส่งเสริมศักยภาพของวิทยาลัยพยาบาลฯ ตามพันธกิจหลัก รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สามารถเพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สภากาชาดไทยและสังคม มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภาษาด้วยตนเอง ริเริ่มการนำร่องโครงการสหกิจศึกษาในห้องผ่าตัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายใต้ความร่วมมือกับฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
![](https://stin.ac.th/wp-content/uploads/ข้อมูลสถาบัน/ประวัติ/stin-1024x878.jpg)
เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ และพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา รวมทั้งเป็นปีที่วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้รับรางวัล CU-Quality Prize ประจำปี 2550 จำนวน 2 รางวัลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กติดผู้ต้องขังในทัณฑสถานที่เป็นโครงการในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
พ.ศ. 2551 วิทยาลัยพยาบาลฯ ร่วมมือกับฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต (การล้างไตทางช่องท้อง) ซึ่งเป็นโครงการของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ยังมีหลักสูตรออกแบบพิเศษระยะสั้นให้กับนักศึกษาพยาบาลญี่ปุ่น Japanese Red Cross Kyushu International College of Nursing รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยทางการพยาบาล จำนวน 3 ศูนย์ ในเดือนมิถุนายน 2551 ได้แก่ ศูนย์ศึกษาวิจัยทางการพยาบาลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ศูนย์ศึกษาวิจัยทางการพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์ศึกษาวิจัยทางการพยาบาลเพื่อสร้างเสริมสุขภาพำ
![](https://stin.ac.th/wp-content/uploads/ข้อมูลสถาบัน/ประวัติ/nures-1024x1024.jpg)
พ.ศ. 2553 ขยายการเปิดสอนหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง อนุสาขาการจัดการความปวดหลักสูตรการผดุงครรภ์สำหรับพยาบาลของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมทางการพยาบาล เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลงานสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมทางการพยาบาลของนักศึกษาและอาจารย์ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนวัตกรรมทางการพยาบาลสำหรับนักศึกษา บุคลากรและผู้สนใจนอกจากนี้ยังมีโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษากับเครือข่ายต่างประเทศ รวม 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น
เกาหลี สิงคโปร์ และสวีเดน
พ.ศ. 2554 มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านสุขภาพในงานสาธารณภัย เพื่อดำเนินงานในการเผยแพร่ความรู้และฝึกทักษะในการดูแลสุขภาพเมื่อเกิดสาธารณภัย ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ด้านการพยาบาลสาธารณภัย
พ.ศ. 2555 วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2555) ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิสาขาพยาบาลศาสตร์ เพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน และนำไปสู่การปรับกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกัน ซึ่งหลักสูตรนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งผ่านการรับรองหลักสูตรจากสภาการพยาบาล
พ.ศ. 2556 ขยายการเปิดสอนหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาศาสตร์และศิลป์การสอนทางการพยาบาล ที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากสภาการพยาบาล เพื่อรองรับการพัฒนาบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ในสถาบันการศึกษา ให้มีความรู้ ความสามารถในการสอนนักศึกษาพยาบาลที่สอดรับกับเกณฑ์การรับรองสถาบันการศึกษาของสภาการพยาบาล
![](https://stin.ac.th/wp-content/uploads/ข้อมูลสถาบัน/ประวัติ/old-1024x1024.jpg)
พ.ศ. 2557 เป็นวาระครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งวิทยาลัยพยาบาลฯ มีการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ เป็นครั้งแรกร่วมกับเครือข่ายกาชาดต่างประเทศ อาทิ ICRC, IFRC, The Japanese Red Cross, Swedish RedCross เป็นต้น ในการประชุมเรื่อง The First Red Cross/Red Crescent International Nursing Conferenceon “Disaster Nursing, Humanitarian Emergency Response, and Nursing Trends.” นอกจากนี้ยังได้เปิดสอนหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเป็นครั้งแรก
พ.ศ. 2559 วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ อาคาร สิรินธรานุสรณ์ ๖๐ พรรษาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 ซึ่งอาคารหลังนี้มีความสูง 25 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนและหอพัก มีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 นอกจากนี้วิทยาลัยพยาบาลฯ ยังได้รับการรับรองในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตจากสภาการพยาบาล เป็นระยะเวลาสูงสุดของการรับรองคือ 5 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2559-2563)
วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ได้ยกฐานะเป็นสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ตามพระราชบัญญัติสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย พ.ศ. 2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านการพยาบาล มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วย วิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น และอยู่ภายใต้การดูแลอุปถัมภ์ของสภากาชาดไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเป็นสถาบันเพื่อจัดการศึกษา วิจัย ส่งเสริมและพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงด้านการพยาบาล ตลอดจนศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมตามพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษา ดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของสภากาชาดไทยเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาประเทศ
พ.ศ. 2560 พัฒนาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560 ได้รับความเห็นชอบจากสภาการพยาบาล เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560 การพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และความต้องการบริการสุขภาพของประชาชนมาเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งนำไปสู่คุณภาพบัณฑิตที่พึงประสงค์ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงและคงอัตลักษณ์ที่สำคัญของกาชาดในการเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข มีมนุษยธรรม เมตตา การุณย์ จิตอาสา และมีความสามารถในการจัดการความเสี่ยงด้านสาธารณภัย โดยคำนึงถึงประชาชนและผู้ด้อยโอกาส
พ.ศ. 2561 สถาบันได้จัดทำแผนพัฒนาสถาบัน ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2561 – 2570) แผนพัฒนาสถาบัน ระยะ 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2565) และแผนปฏิบัติการสถาบัน ปีงบประมาณ 2562 และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในนามของสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561
![](https://stin.ac.th/wp-content/uploads/ข้อมูลสถาบัน/ประวัติ/atc-1.png)