หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ
หลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ
รายวิชาในหลักสูตร 16 หน่วยกิต
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักการและเหตุผล
หลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ
ชื่อหลักสูตร
ชื่อภาษาไทย หลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ
ชื่อภาษาอังกฤษ Training Program of Nursing Specialty in Gerontological Nursing
ชื่อประกาศนียบัตร
ชื่อภาษาไทย ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ
ชื่อภาษาอังกฤษ Certificate of Nursing Specialty in Gerontological Nursing
โครงสร้างหลักสูตร
หลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ พ.ศ. 2561 (ระยะเวลาศึกษาอบรม 4 เดือนหรือ 16 สัปดาห์) มีจำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 16 หน่วยกิต สอดคล้องตามประกาศของสภาการพยาบาล เรื่องเกณฑ์การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทางและการบริหารจัดการหลักสูตร พ.ศ. 2557 และประกาศสภาการพยาบาล เรื่องเกณฑ์การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทางและการบริหารจัดการหลักสูตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 โดยมีรายวิชาภาคทฤษฎี 10 หน่วยกิตและรายวิชาภาคปฏิบัติ 6 หน่วยกิต ประกอบด้วย
1.จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 16 หน่วยกิต
1.1 ภาคทฤษฎี 10 หน่วยกิต (150 ชั่วโมง)
1) วิชาแกน 2 หน่วยกิต
2) วิชาบังคับ 2 หน่วยกิต
3) วิชาความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา 6 หน่วยกิต
1.2 ภาคปฏิบัติ 6 หน่วยกิต (360 ชั่วโมง)
รายวิชาในหลักสูตร 16 หน่วยกิต
NS 2191 วิชานโยบายและระบบสุขภาพ
(Policy and Healthcare System)
NS 2192 วิชาประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงและการตัดสินทางคลินิก
(Advanced Health Assessment and Clinical Judgement)
NS 2193 วิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ I
(Gerontological Nursing I)
NS 2194 วิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ II
(Gerontological Nursing II)
NS 2195 วิชาปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุ I
(Practicum in Gerontological Nursing I)
NS 2196 วิชาปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุ II
(Practicum in Gerontological Nursing II)
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรม ผู้เข้ารับการอบรมสามารถ
- วิเคราะห์สถานการณ์ แผน นโยบายและระบบบริการสำหรับผู้สูงอายุ
- ให้การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและมีภาวะเสี่ยง
- ห้การบำบัดทางการพยาบาล เพื่อการฟื้นหายและฟื้นฟูสภาพ ชะลอความเสื่อมถอยลดภาวะพึ่งพิงในทุกระยะการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ
- สร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุที่มีภาวะเจ็บป่วยและระยะท้ายของชีวิต
- จัดการข้อมูลทางสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีภาวะสุขภาพดี ภาวะเสี่ยง ภาวะเจ็บป่วยและระยะท้ายของชีวิตอย่างเหมาะสม
- ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการบำบัดทางการพยาบาล และการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้สูงอายุที่มีภาวะสุขภาพดี ภาวะเสี่ยง ภาวะเจ็บป่วยและระยะท้ายของชีวิตอย่างเหมาะสม
- เลือกใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในการคัดกรองผู้สูงอายุที่มีภาวะสุขภาพดี และภาวะเสี่ยงอย่างเหมาะสม
- เลือกใช้เทคโนโลยีหรือหัตถการที่เฉพาะหรือจำเป็นและ/หรือนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะเจ็บป่วยและระยะท้ายของชีวิตอย่างเหมาะสม
- ใช้หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จริยธรรมและกระบวนการตัดสินใจเชิงจริยธรรมในการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ โครงสร้างประชากรในอีก 30 ปีข้างหน้า คนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 20.5 ล้านคน ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิงได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ จะมีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการลดภาวะเจริญพันธุ์ และการลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลให้อัตราส่วนการเกื้อหนุนผู้เจ็บป่วยหรือผู้สูงอายุภายในครอบครัวลดลง และอัตราส่วนพึ่งพิงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข ส่งผลให้ประชากรมีอายุขัยยืนยาวขึ้น ดังนั้นจึงมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิม ร้อยละ 12.8 ในปี พ.ศ. 2555 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.43 ในปีพ.ศ. 2557 และคาดการณ์ว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเกินกว่าร้อยละ 20 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) จากสถานการณ์ปัญหาที่มีจำนวนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นนี้ จะพบว่าผู้สูงอายุจะมีโรคประจำตัวที่เกิดจากความเสื่อมอันเนื่องมาจากความสูงอายุ จากการศึกษาสถานะสุขภาพของประชากรผู้สูงอายุ พบว่า โรคที่ทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียสุขภาวะ 5 อันดับแรก ในผู้ชาย ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวาน และโรคมะเร็งตับ ส่วนเพศหญิง ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ สมองเสื่อม และโรคซึมเศร้า ตามลำดับ อีกทั้งผู้สูงอายุยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา โดยมีความเสื่อมของตา ได้แก่ ต้อกระจก ทำให้เกิดปัญหาในการมองเห็น นอกจากนี้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ลดลง ยังเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
การที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงทั้งต่อผู้สูงอายุและครอบครัว รวมทั้งสังคมโดยรวม เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้นจะพบความเสื่อมและการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน พบว่าผู้สูงอายุจะมีโรคประจำตัวอย่างน้อยคนละ 1 โรคส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ทั้งนี้โรคเหล่านี้ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น อัมพาต ไตวาย และหัวใจล้มเหลว เป็นต้น โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้นจากการสำรวจสุขภาวะผู้สูงอายุไทย ปี พ.ศ. 2556 ภายใต้แผนงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ พบว่าผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพ ที่เกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 41.4 โรคเบาหวานร้อยละ 18.2 โรคข้อเข่าเสื่อม ร้อยละ 8.6 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 1.0 และเป็นผู้ป่วยติดเตียง ร้อยละ 1.1 และพบว่า ร้อยละ 43 ของผู้สูงอายุไม่ทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 37 ของผู้สูงอายุไม่ทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ยังพบปัญหาโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน ร้อยละ 18 และโรคแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 13 โดยรวมผู้สูงอายุ ร้อยละ 95 มีความเจ็บป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่ง คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ข้อเข่าเสื่อม ซึมเศร้า เป็นผู้พิการและผู้ป่วยนอนติดเตียง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าโรคที่พบในผู้สูงอายุดังกล่าวนอกจากจะเกิดจากความเสื่อมแล้วยังเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ถ้าผู้สูงอายุเหล่านี้สามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้ชุมชนของผู้สูงอายุมีความเข้มแข็งในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ลดภาระของผู้ดูแล รวมทั้งประเทศและสังคม
จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย จำนวนประชากรวัยแรงงานลดลง ทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพและมีแนวโน้มอยู่คนเดียวสูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันครอบครัวไทยเป็นครอบครัวเดี่ยว มีการขยายตัวของเขตเมือง และการเปลี่ยนแปลงอาชีพจากเกษตรกรรม เป็นอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในชุมชนเมือง ทำให้ประชากรในวัยทำงานต้องออกไปทำงานนอกบ้านจึงไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ ภาครัฐจึงมีการกำหนดนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560 – 2564) ที่มีวิสัยทัศน์ว่า “การเตรียมพร้อมด้านกำลังคนและการเสริมสร้างศักยภาพของประชากรในทุกช่วงวัย” ซึ่งเป็นการสร้างเสริมให้คนมีสุขภาพดีที่เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพและการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ
การเข้าสู่สังคมสูงอายุ(Aging Society) ของประเทศไทยอย่างรวดเร็วดังกล่าว ผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีสุขภาพดี ป้องกันหรือชะลอความเสื่อมไม่ให้เกิดเร็ว นอกจากนี้ต้องได้รับการดูแลรักษาเมื่อเกิดภาวะเสี่ยง หรือเจ็บป่วย รวมทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ตลอดจนสามารถดูแลตนเองได้ตามศักยภาพ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าปัญหาผู้สูงอายุซับซ้อน พยาบาลเป็นบุคลากรทีมสุขภาพที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ทั้งด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษาและการฟื้นฟูสภาพ ดังนั้นพยาบาลจำเป็นต้องมีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ทักษะเฉพาะหรือมีสมรรถนะสูง รวมทั้งมีเจตคติที่ดีในการดูแลผู้สูงอายุ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย เชื่อว่าประสิทธิภาพและคุณภาพบริการพยาบาลจะพัฒนาเพิ่มขึ้นจากมีการเตรียมบุคลากรทีมสุขภาพ โดยเฉพาะพยาบาลให้มีการศึกษาต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ การฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาพยาบาลให้มีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมในระดับซับซ้อนได้อย่างมีคุณภาพ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของปัญหาและองค์ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย จึงได้จัดการอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้และทักษะไปใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อลดภาวะพึ่งพิง และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ตลอดจนนำไปพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลของหน่วยงานและตอบสนองต่อความต้องการของสังคม