หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)
หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)
รายวิชาในหลักสูตร ตลอดหลักสูตร 18 หน่วยกิต
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักการและเหตุผล
หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)
ภาษาอังกฤษ Program of Nursing Specialty in Nurse Practitioner (Primary Medical Care)
ชื่อประกาศนียบัตร
ภาษาไทย ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)
ภาษาอังกฤษ Certificate in Nursing Specialty in Nurse Practitioner (Primary Medical Care)
ชื่อย่อ ป.การพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)
องค์ประกอบของหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิต ตลอดหลักสูตร 18 หน่วยกิต
วิชาภาคทฤษฎี 12 หน่วยกิต (1 หน่วยกิต = 15 ชั่วโมง)
วิชาภาคปฏิบัติ 6 หน่วยกิต (1 หน่วยกิต = 60 ชั่วโมง)
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีคุณสมบัติดังนี้
1. พยาบาลวิชาชีพที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลและ
การผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง จากสภาการพยาบาลที่ไม่หมดอายุ
2. เป็นผู้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 1 ปี
3. ได้รับการอนุมัติลาศึกษาต่อจากผู้บังคับบัญชา
รายวิชาในหลักสูตร ตลอดหลักสูตร 18 หน่วยกิต
วิชาแกน จำนวน 2 หน่วยกิต
– ระบบสุขภาพ และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 2
(Health System and Health Care Service Development)
วิชาบังคับของสาขา จำนวน 2 หน่วยกิต
– การประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูง และการตัดสินทางคลินิก 2
(Advance Health Assessment and Clinical Judgement)
วิชาความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา จำนวน 14 หน่วยกิต
– การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติ 2
(Rational Drug use for Nurse Practitioner)
– การรักษาโรคเบื้องต้นและการจัดการภาวะเร่งด่วน 4
(Primary Medical Care and Emergency Management)
– การจัดการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน 2
(Chronic Care Disease Management in Community)
– ปฏิบัติการรักษาโรคเบื้องต้นและการจัดการภาวะเร่งด่วน 4
(Primary Medical Care and Emergency Management Practicum)
– ปฏิบัติการจัดการโรคเรื้อรังในชุมชน 2
(Chronic Care Disease Management Practicum)
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
วัตถุประสงค์ทั่วไป
เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจนโยบายและระบบบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) มีทักษะในการประเมินภาวะสุขภาพอย่างครอบคลุมเพื่อการตัดสินใจทางคลินิก การตรวจวินิจฉัยแยกโรค ให้การรักษาโรคเบื้องต้นในกลุ่มโรค กลุ่มอาการต่างๆที่พบบ่อย ทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง ประเมินปัญหาที่ซับซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงภาวะสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถวางแผนการบูรณาการการดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ สามารถตัดสินใจส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม ปฏิบัติงานเป็นทีมกับบุคลากรในทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง และประสานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการ รวมทั้งการใช้กลวิธีที่หลากหลายในการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพ
วัตถุประสงค์เฉพาะ
เมื่อสิ้นสุดการศึกษาอบรมแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมสามารถ
1. อธิบายนโยบายสุขภาพ ระบบบริการสุขภาพ และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพชุมชนได้
2. ระบุแนวทางประเมินภาวะสุขภาพอย่างครอบคลุมและการตัดสินทางคลินิก เพื่อการตรวจวินิจฉัยแยกโรคได้
3. ให้การรักษาโรคเบื้องต้นในกลุ่มโรค กลุ่มอาการต่างๆที่พบบ่อยทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะเฉียบพลันและเรื้อรังได้
4. ระบุแนวทางการประเมินปัญหาที่ซับซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงภาวะสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้
5. วางแผน บูรณาการการดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ได้
6. ปฏิบัติงานเป็นทีมกับบุคลากรสุขภาพที่เกี่ยวข้อง และประสานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการได้
7. ใช้กลวิธีที่หลากหลายในการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพได้
8. สร้างสัมพันธภาพกับผู้รับบริการ เคารพในสิทธิของผู้รับบริการบนพื้นฐานในขอบเขตการปฏิบัติงานและจริยธรรมในวิชาชีพได้
หลักการและเหตุผล
แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ มีทิศทางชัดเจนมุ่งสู่การเป็นระบบบริการสุขภาพพอเพียงที่เน้นการใช้ทรัพยาการด้านสุขภาพอย่างจำเป็นและคุ้มค่า เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพระบบบริการที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ การลดภาวะเสี่ยง การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ และการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรังโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง บริการสุขภาพผู้ป่วยจิตเวช รวมทั้งการพัฒนาระบบบริการอุบัติเหตุฉุกเฉินและระบบการส่งต่อข้ามพื้นที่ การจัดบริการรายกรณี ในการดูแลรักษาเฉพาะโรค ที่ครอบคลุมโรคที่มีการเข้าถึงบริการต่ำ โรคที่ต้องได้รับบริการเร่งด่วน และโรคที่มีความจำเป็นต้องได้รับบริการการดูแลต่อเนื่องตลอดชีวิต เป็นต้น
พยาบาลเวชปฏิบัติ เป็นบุคลากรในทีมสุขภาพมีบทบาทในการดูแลสุขภาพที่เน้นความครอบคลุมของการจัด บริการขั้นพื้นฐานได้อย่างเป็นองค์รวม สามารถประเมินภาวะสุขภาพอย่างครอบคลุม เพื่อการตัดสินใจทางคลินิก การตรวจวินิจแยกโรค ให้การรักษาโรคเบื้องต้นในกลุ่มโรคที่พบบ่อยทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง ประเมินปัญหาที่ซับซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงภาวะสุขภาพของผู้ป่วยและวางแผนการบูรณาการดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ตลอดจนสามารถตัดสินใจส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม ปฏิบัติงานเป็นทีมกับบุคลากรในทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้องและประสานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการ รวมทั้งการใช้กลวิธีที่หลากหลายในการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพ ปฏิบัติงานบนพื้นฐานของการเห็นคุณค่าของการให้บริการ ปฐมภูมิ จึงจำเป็นต้องมีทักษะในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้รับบริการ คำนึงถึงสิทธิของผู้รับบริการและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และมีจริยธรรมในการปฏิบัติการพยาบาล
วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพของพยาบาลเวชปฏิบัติ จึงดำเนินการเปิดหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) สำหรับพยาบาลวิชาชีพมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมาและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว ให้มีความทันสมัยมากขึ้นโดยให้สอดคล้องกับปัญหาสาธารณสุข สามารถตอบสนองความต้องการบริการของประชาชน และการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อีกทั้งเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาต่อไป